ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตทั้งชาติตะวันตกและเอเชียที่ได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่มีความเคลือบแฝงในการล่าอาณานิยมและต้องการเผยแผ่คริสต์ศาสนา โดยมาในลักษณะการค้าขาย ซึ่งชาวต่างประเทศที่เข้ามานั้น มักจะเป็นนักผจญภัยแสวงหาโชคลาภและเป็นพ่อค้าไปในตัว รวมทั้งยังได้ตั้งสถานีการค้าขึ้น คือบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ของประเทศโปรตุเกส สเปน ฮอลันดา เดนมาร์ก อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาทั้งไทยและชาติตะวันตกเหล่านี้ก็ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต โดยเฉพาะการทำอนุสัญญาขอสิทธิพิเศษทางการค้าเสรีอย่างเต็มที่ และขอตั้งศาลของตนขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีในประเทศไทย ซึ่งเท่ากับก่อให้เกิดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตขึ้นและเป็นการขัดต่ออธิปไตยของไทยโดยตรง นอกจากนี้ยังถูกชาวต่างชาติบางคน เช่น ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulcon) หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ คบคิดกับชาวฝรั่งเศสเพื่อจะยึดครองและปกครองกรุงศรีอยุธยาแต่ไม่สำเร็จ ถูกสมเด็จพระเพทราชาสำเร็จโทษประหารชีวิตเสียก่อน เป็นต้น
"การทูตของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา (ฉบับปรับปรุง)" ถือเป็นหนังสือที่เหมาะแก่การค้นคว้าอ้างอิงในทางวิชาการประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการทูตในสมัยอยุธยากาบชาติตะวันตกและเอเชีย คือประเทศโปรตุเกส สเปน ฮอลันดา เดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอาหรับ