135 จำนวนผู้เข้าชม |
การสำนึกผิด หมายถึง
การตระหนักรู้ย้อนหลัง
การสำนึกผิด หมายถึง
การมองย้อนกลับไป
การสำนึกผิดที่แท้จริง คือ การจดจำ
การเข้าสู่รายละเอียดโดยตระหนักรู้
อย่างสมบูรณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
-OSHO-
การสำนึกผิดหมายถึงการตระหนักรู้ย้อนหลัง การสำนึกผิดหมายถึงการมองย้อนกลับไป
ท่านพลาดความตระหนักรู้ในชั่วขณะนั้น ท่านเต็มไปด้วยความไม่รู้ตัว ตอนนี้เรื่องราวสงบลงแล้ว ท่านสามารถนำความตระหนักรู้ แสงสว่างแห่งความตระหนักรู้กลับมาอีกครั้ง ท่านเคลื่อนไปยังเหตุการณ์นั้นอีกครั้งหนึ่ง ท่านมองกลับไปอีกครั้งหนึ่งอย่างที่ท่านควรจะทำจริงๆ เหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้ว แต่ท่านทบทวนในใจได้ การมองกลับไปเช่นนี้ การมองกลับไปอย่างต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้ท่านตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อใดก็ตามที่ท่านสามารถรู้ตัวได้ จงรู้ตัว
ท่านโกรธ ลองนั่งลงใคร่ครวญ จงตระหนักรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยทั่วไปแล้วเราทำเช่นนี้ แต่เราทำด้วยเหตุผลที่ผิด เราทำเพื่อนำภาพเรากลับไปไว้ในทางที่ถูกต้อง ท่านคิดเสมอว่าท่านเป็นคนน่ารัก มีเมตตา และแล้วทันใดท่านก็โกรธ ตอนนี้ภาพของท่านบิดเบี้ยวในสายตาของตัวเอง ท่านทำสิ่งที่เป็นการสำนึกผิด ท่านไปหาคนนั้น และบอกว่าขอโทษ
ท่านกำลังทำอะไรอยู่ ท่านกำลังวาดภาพพจน์ของท่านใหม่ อัตตาของท่านพยายามวาดภาพนั้นใหม่ เพราะท่านล้มลงในสายตาตัวเอง ท่านได้ล้มลงในสายตาผู้อื่น ตอนนี้ท่านพยายามใช้เหตุผล อย่างท่านสามารถบอกไปได้ว่า “ข้าพเจ้าเสียใจ ข้าพเจ้าทำลงไปถึงแม้จะไม่อยากทำ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่าภูตผีปีศาจตนใดมาเข้าสิง แต่ข้าพเจ้าเสียใจ โปรดยกโทษให้ด้วย” ท่านกำลังพยายามกลับไปสู่ระดับเดียวกับที่ท่านเป็นก่อนที่จะโกรธ
นี่คือเล่ห์เหลี่ยมของอัตตา นี่มิใช่การสำนึกผิดที่แท้จริง และท่านจะทำเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง
การสำนึกผิดที่แท้จริงคือการจดจำ การเข้าสู่รายละเอียดโดยการตระหนักรู้อย่างสมบูรณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น มองย้อนกลับไป หวนคิดถึงประสบการณ์นั้น การหวนคิดถึงประสบการณ์นั้น เหมือนการคลายออก มันจะลบออกไป
และไม่เพียงแค่นั้น มันยังทำให้ท่านสามารถตระหนักรู้มากขึ้น เพราะความตระหนักรู้นั้นได้รับการฝึกฝนเมื่อท่านจดจำ เมื่อท่านได้ตระหนักรู้อีกครั้งหนึ่งถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ท่านได้มีวินัยในการตระหนักรู้ ในการมีสติ ครั้งต่อไปท่านจะรู้ตัวเร็วขึ้นอีกนิด
ครั้งนี้ท่านโกรธ หลังจากผ่านไปสองชั่วโมงท่านจะใจเย็นลง ครั้งหน้าท่านจะใจเย็นลงหลังจากผ่านไปหนึ่งชั่วโมง ครั้งต่อไปหลังจากผ่านไปอีกไม่กี่นาที ครั้งต่อๆไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น ท่านจะใจเย็นลงและมองเห็นได้ เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยความก้าวหน้าอย่างช้าๆ แล้วในวันหนึ่งขณะที่ท่านโกรธ ท่านจะรู้ตัวทันที และนั่นเป็นประสบการณ์ที่สวยงาม
การรู้ตัวทันทีที่กำลังจะทำความผิด เมื่อนั้นคุณภาพทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด เพราะเมื่อใดก็ตามที่ความตระหนักรู้เจาะลึกเข้าไปในตัวท่าน ปฏิกิริยาจะหยุดลง
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงการสำนึกผิด พระองค์ตรัสว่า เมื่อท่านเริ่มรู้ตัว ให้นั่งลงหลับตา ใคร่ครวญถึงเรื่องทั้งหมด ให้กลายเป็นผู้เฝ้ามอง ท่านพลาดสถานการณ์นั้น อย่างไรก็ตาม ท่านยังทำอะไรในเรื่องนี้ได้ ท่านเฝ้ามองมันได้ ท่านเฝ้ามองเหตุการณ์นี้อย่างที่ควรทำได้ ท่านฝึกฝนได้ นี่จะเป็นการซ้อม และเมื่อท่านได้เฝ้ามองสถานการณ์ทั้งหมดแล้ว ท่านจะรู้สึกสบายใจ
เมื่อนั้น ถ้าท่านอยากออกไปขอโทษ ไม่ใช่เพื่อเหตุผลอื่นใด แต่ความรู้สึกนั้นมาจากความเข้าใจอย่างแท้จริง มาจากการใคร่ครวญอย่างแท้จริงว่าเรื่องนี้ผิด มันไม่ได้ผิดด้วยเหตุผลอื่นใด แต่ผิดเพราะท่านปฏิบัติตนอย่างไม่รู้ตัว
ออกไปและขอโทษ ไม่ใช่เพื่อเหตุผลอื่นใด ท่านแค่ออกไปเพราะได้ใคร่ครวญมาแล้ว ท่านได้รับรู้และตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าท่านได้กระทำลงไปอย่างไม่รู้ตัว ท่านได้ทำร้ายผู้อื่นด้วยความไม่รู้ตัว
อย่างน้อยท่านต้องออกไปและปลอบโยนบุคคลผู้นั้น ท่านต้องออกไปและช่วยให้บุคคลผู้นั้นได้เข้าใจถึงภาวะอับจนหนทางของท่าน เข้าใจว่าท่านเป็นคนที่ไม่รู้ตัว เข้าใจว่าท่านเป็นมนุษย์ที่มีข้อจำกัดทั้งปวง เข้าใจว่าท่านเสียใจ นี่ไม่ใช่การเก็บอัตตาของท่านไว้ แต่เป็นเพียงการทำสิ่งที่ท่านได้เข้าใจจากการใคร่ครวญ ซึ่งเป็นมิติที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
บางส่วนจากบทบรรยาย "มองย้อนกลับไป มองเข้าไปข้างใน"
จากหนังสือ : ปล่อย
"นายเรียนรู้"
บุญเลิศ คณาธนสาร
วิทยากร ที่ปรึกษา และนักเขียนอิสระ
หุ้นส่วนร้าน House of Commons - BookCafe&Space